กัญชาและสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ
กลุ่มสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) เป็นกลุ่มสารที่พบในพืชกัญชามีสารอยู่หลายชนิด ชนิดที่มีข้อมูลใช้ทางการแพทย์มากมีสองชนิดคือ Tetrahydrocannabinol (THC) และ Cannabidiol (CBD) พบได้ทั้งในกัญชาและกัญชง โดยส่วนมากต้นกัญชงจะมีสาร CBD มากกว่า ในขณะที่สาร THC จะพบมากในต้นกัญชา อีกทั้งพืชกัญชาแต่ละพันธุ์จะมีระดับสาร THC และ CBD แตกต่างกัน ขณะเดียวกันเทคนิคการปลูกก็มีผลต่อระดับสารเหล่านี้ด้วย
ซึ่งสารทั้งสองชนิดนี้คล้ายคลึงกันมาก แต่ให้ผลลัพธ์ต่างกันดังนี้
สาร THC
- ได้รับในขนาดที่เหมาะสมจะมีผลในการลดปวด ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการคลื่นไส้
- ได้รับในขนาดสูงจะทำให้มีอาการเมาเคลิ้ม ใจสั่น หน้ามืด เห็นภาพหลอน รบกวนการรับรู้การตัดสินใจ ความจำเสื่อมทั้งระยะสั้นและยาว
- หากใช้สาร THC ขนาดสูงสม่ำเสมอทำให้เกิดภาวะดื้อต่อสาร (tolerance) ทำให้ต้องมีการเพิ่มขนาดเพื่อจะให้ได้ผลเท่าเดิมและเกิดการติดยาได้
สาร CBD
- เป็นสารที่ออกฤทธิ์ตรงข้ามกับ THC และให้ผลตรงกันข้ามเหมือนกับคอยต้านฤทธิ์ของ THC โดยสาร CBD ไม่ทำให้เสพติด ไม่ทำให้เกิดอาการเมา ซึมหรือร่างกายไม่ทำตามที่สมองสั่ง
- อาจจะทำให้บางรายนอนหลับได้ เพิ่มความอยากอาหาร และมีอารมณ์ดี นอกจากนี้ มีการศึกษาใช้สาร CBD เพื่อควบคุมอาการชักและอาการปวดด้วย
- ฤทธิ์ข้างเคียงจากการใช้ CBD พบได้บ้าง เช่น อุจจาระร่วง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ตัวเบา
- สาร CBD ยังไม่พบว่าทำให้เกิดการดื้อหรือติด
เนื่องจากในกัญชา จะมี THC ประกอบอยู่ถึง 12% และมี CBD เพียงไม่ถึง 0.30% เท่านั้น การสูบโดยตรงเพื่อรักษาโรคที่ CBD ทำได้นั้น ทำให้ร่างกายได้รับแต่ THC มากเกินไป การจะใช้งาน CBD ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องอาศัยการสกัดมันออกมา นั่นหมายถึงการนำกัญชาเข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรมแปรรูป
ทั้งนี้ THC จัดเป็นสารเสพติดประเภทที่ 1 (องค์การอนามัยโลก) มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท (Psychoactive) ทำให้เคลิบเคลิ้ม ผ่อนคลาย ทำให้ง่วง หลับง่าย กระตุ้นการอยากอาหาร ต้านปวด ต้านอาเจียน และคลายกล้ามเนื้อ แต่ทำให้เสพติดได้
กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกิน 0.2% ไม่เป็นยาเสพติด สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ได้แก่ ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย ทำผลิตภัณฑ์ เช่น ยา อาหาร สมุนไพร และเครื่องสำอาง โดยมีข้อแม้ให้สารสกัดดังกล่าว จะต้องได้จากกัญชงหรือกัญชาที่ผลิตภายในประเทศเท่านั้น
ขณะที่ CBD ไม่จัดเป็นยาเสพติด เป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท (Non-psychoactive) ไม่ทำให้มึนเมา โดยออกฤทธิ์เพื่อการคลายเครียด ไม่ทำให้เกิดการดื้อหรือติด สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายทั้งเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา และอาหาร
ขอบคุณข้อมูลจาก แพทยสภา, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, กรมสุขภาพจิต, สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน)